Skip to content
Orem’s Self-Care Deficit Theory A Guide to Better Self-Care
นัลลูรี่1 min read

ทฤษฎีความพร่องในการดูแลตนเองของโอเร็ม : คู่มือเพื่อการดูแลตนเองที่ดีขึ้น

ในชีวิตประจำวันที่เร่งรีบและวุ่นวาย เรามักจะพบว่าตัวเองต้องพยายามรับผิดชอบสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทำให้เหลือเวลาดูแลตัวเองไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การละเลยสุขภาวะที่ดีอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย อารมณ์ และจิตใจของเรา โชคดีที่ทฤษฎีความพร่องในการดูแลตนเองของโดโรธี โอเร็ม นำเสนอกรอบแนวคิดอันมีค่าเพื่อช่วยให้คุณระบุความบกพร่องในการดูแลตนเองและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น

ทำความเข้าใจทฤษฎีความพร่องในการดูแลตนเองของโอเร็ม

โดโรธี โอเร็ม ผู้คิดค้นทฤษฎีการพยาบาลที่มีชื่อเสียงได้พัฒนาทฤษฎีความพร่องในการดูแลตนเองขึ้น เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลตนเองเพื่อการรักษาสุขภาพโดยรวม การใช้กรอบแนวคิดนี้มีรากฐานมาจากอุตสาหกรรมการพยาบาล โดยผู้ปฏิบัติงานใช้รากฐานนี้เพื่อประเมินความสามารถและความบกพร่องในการดูแลตนเองของผู้ป่วย แล้วปรับแผนการดูแลให้สอดคล้องกัน

วัตถุประสงค์หลักของโอเร็ม คือการเปลี่ยนหลักสำคัญของการพยาบาล จากการพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การดูแลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไปสู่การทำให้บุคคลสามารถดูแลสุขภาวะของตนเองผ่านการดูแลตนเองได้ สำหรับเธอแล้ว ทุกคนต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความสามารถโดยธรรมชาติในการดูแลตนเองและผู้อื่น

ทฤษฎีของโอเร็มมีพื้นฐานมาจากแแนวคิดพื้นฐานสามประการ:

1.การดูแลตนเอง: แก่นของทฤษฎีของโอเร็มตั้งอยู่บนแนวคิดของการดูแลตนเอง ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติกิจกรรมที่บุคคลใด ๆ เริ่มต้นและดำเนินการด้วยตนเองเพื่อรักษาและเสริมสร้างสุขภาพของตนเอง ซึ่งครอบคลุมทุกอย่าง ตั้งแต่การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลและการจัดการอาการเรื้อรัง ไปจนถึงการแสวงหาการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีเมื่อจำเป็น

2. ความพร่องในการดูแลตนเอง: โอเร็มระบุว่าบุคคลอาจเผชิญกับสถานการณ์ที่พวกเขาไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการดูแลตนเองได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้เกิดความพร่องในการดูแลตนเอง ความบกพร่องเหล่านี้อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเจ็บป่วย การบาดเจ็บ ความพิการ หรือการขาดความรู้และทรัพยากร เมื่อผู้คนไม่สามารถจัดการความต้องการในการดูแลตนเองด้วยตนเองได้ พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากผู้อื่น

3. ระบบการพยาบาล: ตามแนวคิดของโอเร็ม ระบบการพยาบาลจะเข้ามามีบทบาทเมื่อบุคคลมีความบกพร่องในการดูแลตนเองและต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกในการจัดการสุขภาพและสุขภาวะ ในบริบทนี้ การพยาบาลครอบคลุมถึงบริการที่จัดโดยบุคลากรทางด้านสุขภาพและการสนับสนุนจากพยาบาล ตลอดจนการดูแลโดยสมาชิกในครอบครัว เพื่อน และผู้ดูแลอื่น ๆ

 

ระบุความพร่องในการดูแลตนเอง

 

ในการใช้ทฤษฎีความพร่องในการดูแลตนเองของโอเร็มอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปรับปรุงสุขภาวะของคุณ ก่อนอื่นคุณต้องระบุความพร่องในการดูแลตนเองของคุณ เริ่มต้นด้วยการไตร่ตรองถึงแง่มุมต่าง ๆ ในชีวิตของคุณ ทั้งความต้องการทางร่างกาย อารมณ์ และสังคม ถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้:

  1. การดูแลสุขภาพกายของตนเอง: คุณนอนหลับเพียงพอหรือไม่ คุณรับประทานอาหารที่สมดุลและออกกำลังกายเป็นประจำหรือเปล่า คุณจัดการข้อกังวลทางการแพทย์ในทันทีหรือไม่
  2. การดูแลตนเองด้านอารมณ์: คุณจัดการกับความเครียดอย่างไร คุณปล่อยให้ตัวเองแสดงและประมวลผลอารมณ์ของคุณอย่างถูกสุขลักษณะหรือไม่ คุณเอาใจใส่ความต้องการทางอารมณ์ของคุณหรือไม่
  3. การดูแลตัวเองด้านความสัมพันธ์: คุณกำลังรักษาความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับเพื่อนและครอบครัวหรือไม่ คุณมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทำให้คุณมีความสุขและรู้สึกเติมเต็มหรือไม่
  4. การดูแลตนเองด้านจิตใจ: คุณกำลังฝึกสติหรือทำสมาธิเพื่อปลูกฝังความคิดเชิงบวกหรือไม่ คุณกำลังมองหาความช่วยเหลือหรือซัพพอร์ตเมื่อต้องรับมือกับอารมณ์ที่ท้าทายหรือปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่

 

ลงมือปฏิบัติ: ปรับปรุงการดูแลตนเองของคุณ

เมื่อคุณระบุความบกพร่องในการดูแลตนเองได้แล้ว ก็ถึงเวลาลงมือปฏิบัติและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันของคุณได้ ต่อไปนี้เป็นกลยุทธ์ที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อปรับปรุงการดูแลตนเองของคุณ:

การดูแลสุขภาพกายของตนเอง

การดูแลสุขภาพกายของตนเองเป็นพื้นฐานของสุขภาวะโดยรวม เมื่อคุณดูแลร่างกาย คุณจะมีเรี่ยวแรงและจิตใจที่ปลอดโปร่งมากขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายในชีวิต ต่อไปนี้คือเคล็ดลับบางประการในการปรับปรุงการดูแลสุขภาพกายของตนเอง:

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ: รวมการออกกำลังกายเข้ากับกิจวัตรประจำวันของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ หรือโยคะ ค้นหากิจกรรมทางกายที่คุณชื่นชอบเพื่อให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอได้ง่ายขึ้น
  • โภชนาการที่สมดุล: เน้นการรับประทานอาหารที่สมดุล ซึ่งรวมถึงผลไม้ ผัก โปรตีนไม่ติดมัน และ โฮลเกรน ลดการทานอาหารแปรรูปและอาหารที่มีน้ำตาลให้น้อยที่สุด และดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ให้ความสำคัญของการนอนเป็นอันดับแรก: กำหนดตารางการนอนที่สอดคล้องกัน โดยตั้งเป้าให้นอน 7-9 ชั่วโมงต่อคืน สร้างกิจวัตรก่อนนอนที่ผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือหรืออาบน้ำอุ่น เพื่อส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่าถึงเวลาพักผ่อนแล้ว
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ: กำหนดเวลาการตรวจสุขภาพและการตรวจคัดกรองเป็นประจำเพื่อติดตามสุขภาพโดยรวมของคุณและตรวจพบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

การดูแลตนเองด้านอารมณ์

การดูแลตนเองด้านอารมณ์เกี่ยวข้องกับการรับรู้และประมวลผลอารมณ์ของคุณด้วยวิธีที่เหมาะสม กระตุ้นให้คุณรับมือกับความท้าทายในชีวิตด้วยความยืดหยุ่นทางจิตใจและความเห็นอกเห็นใจ ต่อไปนี้คือเคล็ดลับในการยกระดับการดูแลตนเองด้านอารมณ์ของคุณ:

  • ฝึกสติ: เข้าร่วมกิจกรรมฝึกสติ เช่น การทำสมาธิหรือการฝึกหายใจลึก ๆ เพื่อให้อยู่กับปัจจุบันและมีเหตุผล การเจริญสติจะช่วยลดความเครียดและปลูกฝังความรู้สึกตระหนักรู้ในตนเองให้มากขึ้น
  • จดบันทึก: จดบันทึกเพื่อแสดงความคิดและความรู้สึกของคุณ การเขียนเป็นวิธีระบายอารมณ์ที่ค้างคาและเข้าใจรูปแบบทางอารมณ์ของคุณ
  • กำหนดขอบเขตที่เหมาะสม: เรียนรู้ที่จะปฏิเสธกิจกรรมหรือข้อผูกมัดที่ทำให้พลังทางอารมณ์ของคุณหมดไป จัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่ทำให้คุณมีความสุขและสอดคล้องกับคุณค่าของคุณก่อน
  • ขอรับซัพพอร์ต: ติดต่อเพื่อน ครอบครัว หรือนักบำบัดเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์และความท้าทายของคุณ การมีระบบซัพพอร์ตทำให้คุณได้รับความสะดวกสบายและมุมมองที่มีคุณค่า

 

การดูแลตัวเองด้านความสัมพันธ์

การดูแลตัวเองด้านความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการรักษาความสัมพันธ์ที่มีความหมายและส่งเสริมความรู้สึกเป็นเจ้าของ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงบวกมีส่วนช่วยให้สุขภาวะโดยรวมดีขึ้น ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับในการปรับปรุงการดูแลตัวเองด้านความสัมพันธ์ของคุณ:

  • เวลาคุณภาพกับคนที่คุณรัก: หาเวลาสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนฝูงอย่างสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความทรงจำที่ยืนยาว
  • เข้าร่วมกลุ่มชุมชน: สำรวจกิจกรรมชุมชนหรือกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกันเพื่อขยายวงสังคมของคุณและพบปะผู้คนใหม่ ๆ
  • ฝึกการฟังอย่างตั้งใจ: ในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ให้อยู่กับปัจจุบันและฝึกการฟังอย่างตั้งใจ แสดงความสนใจอย่างแท้จริงต่อประสบการณ์และความรู้สึกของผู้อื่น
  • การสื่อสารที่ดี: สื่อสารอย่างมั่นใจและให้เกียรติในความสัมพันธ์ของคุณ การสื่อสารที่เปิดเผยและตรงไปตรงมาส่งเสริมให้เกิดความไว้วางใจและความเข้าใจ

 

การดูแลตนเองด้านจิตใจ

การดูแลตนเองด้านจิตใจเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาวะทางจิตใจของคุณ การส่งเสริมความคิดเชิงบวก และการเอาใจใส่ความตระหนักรู้ในเป้าหมายและความสำเร็จ ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับในการเสริมสร้างการดูแลตนเองด้านจิตใจของคุณ:

  • ทำงานอดิเรก: อุทิศเวลาให้กับงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ทำให้คุณมีความสุขและรู้สึกถึงความสำเร็จ งานอดิเรกเป็นกิจกรรมปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์และการผ่อนคลาย
  • การตอกย้ำยืนยันเชิงบวก: ฝึกฝนการพูดกับตัวเองและการตอกย้ำยืนยันในเชิงบวกเพื่อท้าทายความคิดเชิงลบและสร้างความมั่นใจในตนเอง
  • เรียนรู้เทคนิคการจัดการความเครียด: ระบุตัวกระตุ้นความเครียดและพัฒนากลไกการเผชิญปัญหาที่ดีเพื่อจัดการกับความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจรวมถึงการฝึกหายใจลึก ๆ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบต่อเนื่อง หรือจินตภาพภายใต้การชี้นำ
  • กำหนดเป้าหมาย: ตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงและทำได้เพื่อการพัฒนาตนเองและการเติบโตในอาชีพการงาน ความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายที่มีความหมายสามารถเพิ่มจุดมุ่งหมายและแรงจูงใจของคุณได้

 

บทสรุป

การให้ความสำคัญกับความพร่องในการดูแลตนเองในแต่ละด้าน (ร่างกาย อารมณ์ ความสัมพันธ์ และจิตใจ) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาชีวิตที่สมดุลและมีสุขภาพดี การนำเคล็ดลับที่ใช้ได้จริงเหล่านี้ไปใช้กับกิจวัตรประจำวันของคุณจะช่วยให้คุณมีความยืดหยุ่นทางจิตใจมากขึ้น พอใจ และพร้อมรับมือกับความท้าทายในชีวิตได้ดีขึ้น โปรดจำไว้ว่าการดูแลตนเองเป็นกระบวนการต่อเนื่อง และเป็นเรื่องปกติที่จะขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากเพื่อน ครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญเมื่อจำเป็น ยอมรับพลังของทฤษฎีความพร่องในการดูแลตนเองของโอเร็ม และเริ่มต้นการเดินทางเพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นและการค้นพบตนเอง

 

บทความนี้นำเสนอโดยนัลลูรี่ นัลลูรี่ช่วยให้คุณพัฒนานิสัยไลฟ์สไตล์ที่มีสุขภาพดี บรรลุผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่มีความหมาย และมีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้นผ่านการโค้ชเฉพาะบุคคล โปรแกรมที่มีโครงสร้าง บทเรียนที่เรียนรู้ด้วยตนเอง เครื่องมือและอุปกรณ์ด้านสุขภาพ ดาวน์โหลดแอปนัลลูรี่เลยวันนี้ หรือติดต่อ hello@naluri.life สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากการโค้ชสุขภาพและการบำบัดแบบดิจิทัลเพื่อเป็นตัวคุณที่มีความสุขมากขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น

You may also like